วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

1.1 การพัฒนาตนเอง

เรื่องที่ 1 การพัฒนาตนเอง

          การพัฒนา (development) หมายถึง การทำให้ดีขึ้น ให้เจริญขั้น เป็นการเพิ่มคุณค่าของสิ่งต่างๆ การพัฒนาอาจพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่เดิม หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาก็ได้
          การพัฒนาตนเอง (Self Development) คือ การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยได้มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาไว้แล้ว ซึ่งการพัฒนานั้นมิได้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านปริมาณที่สามารถจับต้อง วัดได้ เท่านั้น แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านคุณภาพด้วย

ความสำคัญ/ประโยชน์ของการพัฒนาตนเอง
      ก. ความสำคัญต่อตนเอง จำแนกได้ดังนี้
          1. เป็นการเตรียมตนให้พร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรับกับสถานการณ์ทั้งหลายได้ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง
          2. เป็นการปรับปรุงสิ่งที่บกพร่อง และพัฒนาพฤติกรรมให้เหมาะสม ขจัดคุณลักษณะที่ไม่ต้องการออกจากตัวเอง และเสริมสร้างคุณลักษณะที่สังคมต้องการ
          3. เป็นการวางแนวทางให้ตนเองสามารถพัฒนาไปสู่เป้าหมายในชีวิตได้อย่างมั่นใจ
          4. ส่งเสริมความรู้สึกในคุณค่าแห่งตนให้สูงขึ้น มีความเข้าใจตนเอง สามารถทำหน้าที่ตามบทบาทของตนได้เต็มศักยภาพ
      ข. ความสำคัญต่อบุคคลอื่น เนื่องจากบุคคลย่อมต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน การพัฒนาในบุคคลหนึ่งย่อมส่งผลต่อบุคคลอื่นด้วย การปรับปรุงและพัฒนาตนเองจึงเป็นการเตรียมตนให้เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีของผู้อื่น ทั้งบุคคลในครอบครัวและเพื่อนในที่ทำงาน สามารถเป็นตัวอย่างหรือเป็นที่อ้างอิงให้เกิดการพัฒนาในคนอื่นๆ ต่อไป เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งชีวิตส่วนตัวและการทำงานและการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในชุมชน ที่จะส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
      ค. ความสำคัญต่อสังคมโดยรวม ภารกิจที่แต่ละหน่วยงานในสังคมต้องรับผิดชอบ ล้วนต้องอาศัยทรัพยากรบุคคลเป็นผู้ปฏิบัติงาน การที่ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนได้พัฒนาและปรับปรุงตนเองให้ทันต่อพัฒนาการของรูปแบบการทำงานหรือเทคโนโลยี การพัฒนาเทคนิควิธี หรือวิธีคิดและทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพของผลผลิต ทำให้หน่วยงานนั้นสามารถแข่งขันในเชิงคุณภาพและประสิทธิภาพกับสังคมอื่นได้สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้

หลักการพัฒนาตนเอง
          1. การพัฒนาด้านจิตใจ หมายถึง การพัฒนาสภาพของจิตที่มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม มองโลกในแง่ดี เชิงสร้างสรรค์
          2. การพัฒนาด้านร่างกาย หมายถึง การพัฒนารูปร่างหน้าตา กริยาท่าทาง การแสดงออก น้ำเสียงวาจา การสื่อความหมายรวมไปถึงสุขภาพอนามัย และการแต่งกายเหมาะกับกาลเทศะ รูปร่างและผิวพรรณ
          3. การพัฒนาด้านอารมณ์ หมายถึง การพัฒนาความสามารถในการควบคุมความรู้สึกนึกคิดและการแสดงออก ควบคุมอารมณ์ที่เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่น
          4. การพัฒนาด้านสติปัญญา และความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ หมายถึง การพัฒนาความรอบรู้ ความฉลาด ไหวพริบ ปฏิภาณ การวิเคราะห์ การตัดสินใจ ความสามารถในการแสวงหาความรู้ และฝึกทักษะใหม่ ๆ เรียนรู้วิถีทางการดำเนินชีวิตที่ดี
          5. การพัฒนาด้านสังคม หมายถึง การพัฒนาปฏิบัติตน ท่าทีต่อสิ่งแวดล้อม ประพฤติตนตามปทัศฐานทางสังคม
          6. การพัฒนาด้านความรู้ ความสามารถ หมายถึง การพัฒนาความรู้ ความสามารถที่มีอยู่ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
          7. การพัฒนาตนเองสู่ความต้องการของตลาดแรงงาน หมายถึง การพัฒนาความรู้ความสามารถ ทักษะ ความชำนาญทางอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
          การพัฒนาตนเองจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้น ผู้ที่พัฒนาตนเองต้องมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยความเต็มใจ ปราศจากความรู้สึกว่าถูกบังคับ การพัฒนาจึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ง่ายและเป็นการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิผล

วิธีการพัฒนาตนเอง
          การดำเนินการพัฒนาตนเอง เป็นการลงมือปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างตนเองให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ ควรดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1. การหาความรู้เพิ่มเติม อาจกระทำโดย
          1.1 การอ่านหนังสือเป็นประจำและอย่างต่อเนื่อง
          1.2 การเข้าร่วมประชุมหรือเข้ารับการฝึกอบรม
          1.3 การสอนหนังสือหรือการบรรยายต่าง ๆ
          1.4 การร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนหรือองค์การต่าง ๆ
          1.5 การร่วมเป็นที่ปรึกษาแก่บุคคลหรือหน่วยงาน
          1.6 การศึกษาต่อหรือเพิ่มเติมจากสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยเปิด
          1.7 การพบปะเยี่ยมเยียนบุคคลหรือหน่วยงานต่าง ๆ
          1.8 การเป็นผู้แทนในการประชุมต่าง ๆ
          1.9 การจัดทำโครงการพิเศษ
          1.10 การปฏิบัติงานแทนหัวหน้างาน
          1.11 การค้นคว้าหรือวิจัย
          1.12 การศึกษาดูงาน
2. การเพิ่มความสามารถและประสบการณ์ อาจกระทำโดย
          2.1 การลงมือปฏิบัติจริง
          2.2 การฝึกฝนโดยผู้ทรงคุณวุฒิหรือหัวหน้างาน
          2.3 การอ่าน การฟัง และการถาม จากเอกสารและหรือผู้ทรงคุณวุฒิหรือหัวหน้างาน
          2.4 การทำงานร่วมกับบุคคลอื่น
          2.5 การค้นคว้าวิจัย
          2.6 การหมุนเวียนเปลี่ยนงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น