วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

1.2 การพัฒนาชุมชน

เรื่องที่ 2 การพัฒนาชุมชน

          การพัฒนาชุมชน ก็คือ การเปลี่ยนแปลงชุมชนให้ดีขึ้น หรือให้เจริญขึ้นในทุก ๆ ด้านนั่นเอง นั่นคือจะต้องพัฒนาคน กลุ่มชน สิ่งแวดล้อมทางวัตถุหรือสาธารณสมบัติ และพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้บังเกิดผลดีแก่ประเทศชาติโดยส่วนรวม

ปรัชญาขั้นมูลฐานของงานพัฒนาชุมชน
          ปรัชญาขั้นมูลฐานของงานพัฒนาชุมชน สรุปได้ดังนี้
          1. บุคคลแต่ละคนย่อมมีความสำคัญ และมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน จึงมีสิทธิอันพึงได้รับการปฏิบัติด้วยความยุติธรรม และอย่างบุคคลมีเกียรติในฐานะที่เป็นมนุษย์ปุถุชนผู้หนึ่ง
          2. บุคคลแต่ละคนย่อมมีสิทธิ และสามารถที่จะกำหนดวิธีการดำรงชีวิตของตนไปในทิศทางที่ตนต้องการ
          3. บุคคลแต่ละคนถ้าหากมีโอกาสแล้ว ย่อมมีความสามารถที่จะเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงทัศนะ ประพฤติปฏิบัติและพัฒนาขีดความสามารถให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงขึ้นได้
          4. มนุษย์ทุกคนมีพลังในเรื่องความคิดริเริ่ม ความเป็นผู้นำ และความคิดใหม่ ๆ ซึ่งซ่อนเร้นอยู่ และพลังความสามารถเหล่านี้สามารถเจริญเติบโต และนำออกมาใช้ได้ ถ้าพลังที่ซ่อนเร้นเหล่านี้ได้รับการพัฒนา
          5. การพัฒนาพลังและขีดความสามารถของชุมชนในทุกด้านเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา และมีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตของบุคคล ชุมชน และรัฐ

แนวคิดพื้นฐานของการพัฒนาชุมชน
          การศึกษาแนวคิดพื้นฐานของงานพัฒนาชุมชน เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เจ้าหน้าที่หรือนักพัฒนาได้ลงไปทำงานกับประชาชนได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวคิดพื้นฐานงานพัฒนาชุมชน มีดังนี้
          1. การมีส่วนร่วมของประชาชน (People Participation) เป็นหัวใจของการพัฒนาชุมชน โดยยึดหลักของการมีส่วนร่วมที่ว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจ วางแผนการปฏิบัติการ ร่วมบำรุงรักษา ติดตามและประเมินผล
          2. การช่วยเหลือตนเอง (Aide Self-Help) เป็นแนวทางในการพัฒนาที่ยึดเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่ง คือ ต้องพัฒนาให้ประชาชนพึ่งตนเองได้มากขึ้น โดยมีรัฐคอยให้การช่วยเหลือสนับสนุน ในส่วนที่เกินขีดความสามารถของประชาชน ตามโอกาสและหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม
          3. ความคิดริเริ่มของประชาชน (Initiative) ในการทำงานกับประชาชนต้องยึดหลักการที่ว่า ความคิดริเริ่มต้องมาจากประชาชน ซึ่งต้องใช้วิถีแห่งประชาธิปไตย และหาโอกาสกระตุ้นให้การศึกษา ให้ประชาชนเกิดความคิด และแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อหมู่บ้าน ตำบล
          4. ความต้องการของชุมชน (Felt-Needs) ในการพัฒนาชุมชนต้องให้ประชาชน และองค์กรประชาชนคิด และตัดสินใจบนพื้นฐานความต้องการของชุมชนเอง เพื่อให้เกิดความคิดที่ว่างานเป็นของประชาชน และจะช่วยกันดูแลรักษาต่อไป
          5. การศึกษาภาคชีวิต (Life-Long Education) ในการทำงานพัฒนาชุมชน ถือเป็นกระบวนการให้การศึกษาภาคชีวิตแก่ประชาชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคน การให้การศึกษาต้องให้การศึกษาอย่างต่อเนื่องกันไป ตราบเท่าที่บุคคลยังดำรงชีวิตอยู่ในชุมชน
หลักการพัฒนาชุมชน
          จากปรัชญา และแนวคิดพื้นฐานของการพัฒนาชุมชน ได้นำมาใช้เป็นหลักการพัฒนาชุมชน ซึ่งนักพัฒนาต้องยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ มีดังนี้
                1. หลักความมีศักดิ์ศรี และศักยภาพของประชาชน และเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้มากที่สุด จึงต้องให้โอกาสประชาชนในการคิด วางแผนเพื่อแก้ปัญหาชุมชนด้วยตัวของเขาเอง นักพัฒนาควรเป็นผู้กระตุ้น แนะนำ ส่งเสริม
                2. หลักการพึ่งตนเองของประชาชน ต้องสนับสนุนให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ โดยการสร้างพลังชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชน ส่วนรัฐบาลจะช่วยเหลือ สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และช่วยเหลือในส่วนที่เกินความสามารถของประชาชน
                3. หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมคิด ตัดสินใจ วางแผน ปฏิบัติตามแผน และติดตามประเมินผลในกิจกรรม หรือโครงการใด ๆ ที่จะทำในชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการดำเนินงาน อันเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องความเป็นเจ้าของโครงการหรือกิจกรรม
                4. หลักประชาธิปไตย ในการทำงานพัฒนาชุมชนจะต้องเริ่มด้วยการพูดคุย ประชุมหารือร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ และทำร่วมกัน รวมถึงรับผิดชอบร่วมกันภายใต้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย
นอกจากหลักการพัฒนาชุมชนดังกล่าวแล้ว องค์การสหประชาชาติ ยังได้กำหนดหลักการดำเนินงานพัฒนาชุมชนไว้ 10 ประการ คือ
             1. ต้องสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
             2. ต้องเป็นโครงการเอนกประสงค์ที่ช่วยแก้ปัญหาได้หลายด้าน
             3. ต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติไปพร้อม ๆ กับการดำเนินงาน
             4. ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
             5. ต้องแสวงหาและพัฒนาให้เกิดผู้นำในท้องถิ่น
             6. ต้องยอมรับให้โอกาสสตรี และเยาวชนมีส่วนร่วมในโครงการ
             7. รัฐต้องเตรียมจัดบริการให้การสนับสนุน
             8. ต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพทุกระดับ
             9. สนับสนุนให้องค์กรเอกชน อาสาสมัครต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วม
             10. ต้องมีการวางแผนให้เกิดความเจริญแก่ชุมชนที่สอดคล้องกับความเจริญในระดับชาติด้วย

          จากหลักการดังกล่าว สรุปได้ว่า การพัฒนาชุมชนเป็นกระบวนการที่จะพยายามเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยร่วมมือกันพัฒนาให้ชุมชนของตนเองเป็นชุมชนที่ดี สร้างความรู้สึกรักและผูกพันต่อชุมชนตนเอง เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาชุมชนจึงมุ่งไปยังประชาชน โดยผ่านกระบวนการให้การศึกษาแก่ประชาชนและกระบวนการรวมกลุ่มเป็นสำคัญ เพราะพลังสำคัญที่จะบันดาลให้การพัฒนาบรรลุผลสำเร็จนั้นอยู่ที่ตัวประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น